วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

สุดยอดเหรียญ ๑๘ พระอรหันต์ จับโป๊ยหล่อหั่น พิธีมหาพุทธาภิเศก วัดสุทัศน์เทพวราราม ปี๓๙ วันเพ็ญเดือน12


เหรียญ ๑๘ พระอรหันต์ จับโป๊ยหล่อหั่น พิธีมหาพุทธาภิเศก วัดสุทัศน์เทพวราราม ปี๓๙ วันเพ็ญกลางเดือน12 สวย ตอกโค๊ดชัด โดยทั้งสองเหรียญนี้เป็นปางที่ 7 และ 8 ชื่อว่า พระกาลิกะ และพระวัชรบุตร

เหรียญ 18 อรหันต์ (จับโป๊ยล่อหั่น) ตามตำนานประวัติศาสตร์จีนนั้นว่ามีอานุภาพ เข้มขลังศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นเลิศในทุกๆ ด้านทั้งความเจริญ ความสำเร็จ ยศศักดิ์ อำนาจ วาสนา การค้าธุรกิจ ตลอดจนป้องกันตัวและทุกภัยต่างๆ ว่ากันว่า หากผู้ใดพกไว้ จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า หากค้าขายจะร่ำรวย หากรับราชการก็จะเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน

พระ อรหันต์ ๑๘ พระองค์ 十八阿羅漢

พระอรหันต์ ๑๘ องค์นี้ มีปรากฏชื่อเป็นหลักฐานอยู่ในคัมภีร์ธรรมสถิต ซึ่งแปลสู่ภาษาจีนโดย พระตรีปิฎกธราจารย์ (เฮี้ยนจัง ) ในสมัยราชวงศ์ถัง ในคัมภีร์ได้กล่าวถึงเรื่องของพระอรหันต์ผู้รักษาพระธรรม จนกว่าจะหมดกาลแห่งศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน พระคัมภีร์นี้แสดงโดยพระอรหันต์ นนทิมิตรที่เกาะลังกา แต่เดิมในพระคัมภีร์กล่าวนามพระอรหันต์เพียง ๑๖ องค์ แต่ต่อมามีการเพิ่มพระอรหันต์เป็น ๑๘ องค์ คือ พระนนทิมิตร และพระปิณโฑละ

พระ อรหันต์ ๑๘ องค์เริ่มจากพระอรหันต์อารักษ์ธรรม ๔ องค์ ใน พ. ศ. ๑๐๐๐ พระภิกษุจีนวาดภาพพระอรหันต์ ๑๖ องค์ หรือวาด ๔๘ องค์ และ ๕๐๐ องค์ก็มี ปี พ.ศ. ๒๒๘๐ กษัตริย์เคียงล้งแห่งราชวงศ์เช็ง โปรดเพิ่มพระอรหันต์ปราบมังกรและเสืออีก ๒ องค์ คือท่านนนทิมิตร กับท่านปิณโฑละ จึงเป็น ๑๘ องค์กระทั่งปัจจุบัน

๑.พระอรหันต์นนทิมิตร ( คีลี ) 慶友尊者 คือ พระอรหันต์ผู้เทศนา เรื่องพระอรหันต์ ๑๖ องค์ ที่ลังกา ท่านเทศนาสอนธรรมไว้ว่า ต้องใช้อุบายทางธรรมะ ปราบ-กิเลส-ตัณหา-อุปาทาน-ดับต้นเหตุผลนี้เสียก่อน ฉะนั้นด้านข้างของท่านมีมังกรอยู่ซึ่งเป็นอุบายสอนธรรมะ อย่าตกเป็นทาสของกิเลส

๒.พระอรหันต์อชิตะ ( อะสะโต ) 阿化多尊者 แปลว่า ไม่แพ้ สถิตอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ พร้อมด้วยพระอรหันต์อีก ๑,๕๐๐ รูปเป็นบริวาร ยังหาเรื่องราวของท่านไม่ปรากฏชัดเจน ในคราวทุติสังคายนา มีพระภิกษุองค์หนึ่งชื่อเดียวกับท่าน ในเถรคาถามีพระอชิตเถระ เป็นบุตรของพราหมณ์ คำว่า อชิต เป็นนามพระเมตไตรยโพธิสัตว์

๓.พระอรหันต์อิงคท ( อิคะโต ) 因揭陀尊者 สถิตอยู่บนภูเขาไวบูลยบารศ์ พร้อมด้วยพระอรหันต์อีก ๑,๓๐๐ รูปเป็นบริวาร ท่านองค์นี้หากเป็นองค์เดียวกันกับพระอังคชะ ก็เป็นมหาสาวกองค์หนึ่ง ร่างกายสะอาดมาก มีกลิ่นหอม หรือถ้าเป็นองค์เดียวกันกับพระอังคิละ ก็เป็นมหาสาวกเช่นกัน และเป็นองค์ที่บริบูรณ์ในสิ่งทั้งปวง

๔.พระอรหันต์ราหุล ( ลาวาโล ) 羅恬羅尊者 สถิตอยู่ปริยังคุทวีป พร้อมด้วยพระอรหันต์อีก ๑,๑๐๐ รูปเป็นบริวาร ท่านเป็นพุทธชิโนรส พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ท่านจะได้เกิดเป็นเชษฐาโอรสของพระอานนท์ ฉะนั้น จึงสมญาว่า โอรสพระอานนท์ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ท่านได้เป็นคณาจารย์นิกายไวภาษิก และเป็นที่เคารพของบรรดาสามเณร ท่านเป็นเอตทัคคมหาสาวกทางด้านการศึกษาในพระธรรมวินัย และประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

๕.พระอรหันต์สุปากะ ( ไคปักขา ) 戒慱迦尊者 สถิตอยู่บนภูเขาคันธมาทน์ พร้อมด้วยพระอรหันต์อีก ๙๐๐ รูปเป็นบริวาร ในคัมภีร์ทางเถรวาทมีชื่อ โสปากะอยู่องค์หนึ่ง เนื่องด้วยตอนที่ท่านจะคลอด มารดาท่านสลบไป ผู้คนเข้าใจว่าตายจึงนำไปไว้ในป่า เมื่อท่านคลอดออกมา มารดาก็ถึงแก่กรรมไปจึงได้ชื่อว่า โสปากะ แปลว่า อันเขาทิ้งแล้ว เมื่อท่านอายุได้ ๗ ปี ได้ฟังธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้า ก็เกิดความเลื่อมใสแล้วออกบรรพชา ภายหลังได้บรรลุพระอรหันตผลเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง

๖.พระอรหันต์กาลิกะ ( คักขาทิ ) 迦理迦尊者 แปลว่า เวลา สถิตอยู่สังฆาฏทวีป พร้อมด้วยพระอรหันต์อีก ๑,๐๐๐ รูปเป็นบริวาร ท่านเป็นที่นับถือของพระเจ้าพิมพิสาร แห่งกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ

๗.พระอรหันต์นกุละ ( ยาสะโล ) 諾距羅尊者 แปลว่า พังพอน สถิตอยู่ชมพูทวีป พร้อมด้วยพระอรหันต์อีก ๘๐๐ รูป เป็นบริวาร ท่านชอบอยู่อย่างวิเวก ถือการธุดงค์เป็นวัตร ไม่มีศิษย์ ไม่เคยเทศนา ไม่ชอบเข้าหมู่คณะ ไม่เคยอาพาธ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เป็นพระสาวกที่มีอายุยืนยาวที่สุด คือ ๑๖๐ ปี ทั้งนี้เพราะเป็นอานิสงส์มาจากเมื่อสมัยพระวิปัสสีพุทธเจ้า ท่านได้ถวายเภสัชแก่ภิกษุอาพาธ เหตุที่ท่านไม่เทศนาโปรดใครนั้น เพราะท่านเห็นว่าพระมหาสาวกองค์อื่นๆเทศน์ได้ดีแล้ว ท่านจึงไม่จำเป็นต้องเทศน์

๘.พระอรหันต์กนกภารัทวาช ( กะยะขาปสุลิจารย์ ) 迦諾迦跋梨隨阇尊者 เป็นชื่อของฤๅษี ๑ ใน ๗ มหาฤๅษี สถิตอยู่บูรพวิเทหทวีป พร้อมด้วยพระอรหันต์อีก ๖๐๐ รูป เป็นบริวาร

๙.พระอรหันต์ ปิณโฑลภารัทวาช ( ขีถลาปะโลโต ) 賨度羅跋羅墮尊者 แปลว่า ก้อนข้าว สถิตอยู่อมรโคยานทวีป พร้อมด้วยพระอรหันต์อีก ๑,๐๐๐ รูป เป็นบริวาร ท่านได้แสดงปาฏิหาริย์หยิบบาตรไม้จันทร์บนยอดภูเขาสูง ความทราบถึงพระพุทธเจ้าทรงติเตียนว่าท่านแสดงปาฏิหาริย์เพื่อบาตรไม้ต่อหน้า พวกที่ยังไม่ได้รับศีล จึงขับออกไปเสียจากชมพูทวีป ท่านจึงไปอยู่ที่อมรโคยานทวีป ต่อมาบรรดาสาวกระลึกถึงท่าน จึงทูลขอให้กลับมา พระพุทธองค์ก็ยอมอนุโลมให้ท่านกลับมา แต่ท่านไม่ได้เข้านิพพาน อยู่ดำรงขันธ์เป็นเนื้อนาบุญต่อไป ฉะนั้นการสักการบูชาท่านจึงได้กุศลมาก

๑๐.พระอรหันต์กนกวัจฉะ ( ขายะเคช ) 迦諾迦伐蹉尊者 แปลว่า ลูกโคทอง สถิตอยู่แคว้นกาศมีระ พร้อมด้วยพระอรหันต์อีก ๕๐๐ รูป เป็นบริวาร ท่านเป็นพระสาวกที่มีความสามารถทางด้านบรรดาลัทธิธรรมต่างๆ และเป็นผู้มีความขันติ สามารถเข้าฌาณกลางลมฝนได้

๑๑.พระอรหันต์สุปิณฑะ ( สุพะโท ) 蘇頻陀尊者 สถิตอยู่อุตตรกุรุทวีป พร้อมด้วยพระอรหันต์อีก ๗๐๐ รูป เป็นบริวาร ท่านองค์นี้อาจจะเป็นองค์เดียวกับพระสุภัทร ซึ่งเป็นพราหมณ์ชาวกุสินารา บรรลุพระอรหันต์เมื่ออายุ ๑๒๐ ปี โดยสดับพระธรรม เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงพระประชวรหนัก ใกล้จะเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพาน ท่านสุภัทรนับเป็นปัจฉิมสาวก ( พระสาวกองค์สุดท้าย )

๑๒.พระอรหันต์ภัทร ( ชะโตโล ) 跋陀羅尊者 แปลว่า ประเสริฐ สถิตอยู่ตามรทวีป พร้อมด้วยพระอรหันต์อีก ๙๐๐ รูปเป็นบริวาร บ้างว่าท่านเป็นพระญาติของพระพุทธเจ้า บ้างก็ว่าท่านอยู่ในสกุลสูง ท่านเป็นมหาสาวกองค์หนึ่ง มีความสามารถอธิบาย อรรถธรรมที่ลึกซึ้งให้เข้าใจด้วยคำพูดง่ายๆ

๑๓.พระอรหันต์วัชรบุตร ( วัดจารย์โตสุโข ) 伐阇羅弗多羅尊者 สถิตอยู่บรรณทวีป พร้อมด้วยพระอรหันต์อีก ๑,๑๐๐ รูป เป็นบริวาร

๑๔.พระอรหันต์มหาปันถกะ ( ปัตยะ ) 半扥迦尊者 แปลว่า หนทางใหญ่ สถิตอยู่ที่สวรรค์ตรัยตรึงศ์ พร้อมด้วยพระอรหันต์อีก ๑,๓๐๐ รูปเป็นบริวาร ท่านมีฤทธิ์ชำแรกกายเข้าของแข็งได้ นิรมิตไปในน้ำได้ เดินเหินในอากาศได้ ฉะนั้นครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าจึงตรัสไปให้ปราบพญานาค ท่านยังเป็นผู้ที่ยอดเยี่ยมด้วยปัญญา สามารถแก้ความสงสัยในการอธิบายอรรถธรรมให้แจ่มแจ้งได้ เป็นเอตทัคคะสาวกองค์หนึ่ง

๑๕.พระอรหันต์นาคเสน ( ลาขานะ ) 那伽犀那尊者 สถิตอยู่บนภูเขาปาณฑพ พร้อมด้วยพระอรหันต์อีก ๑,๒๐๐ รูป เป็นบริวาร ท่านเป็นผู้มีสง่า มีปฏิภาณในการโต้ตอบแก้ปัญหาธรรม มีความรู้ลึกซึ้ง ซึ่งอาจจะเป็นองค์เดียวกันกับพระนาคเสนในมิลินทปัญหาก็ได้

๑๖.พระอรหันต์วนวาสี (วัคนะจุ ) 伐那汥斯尊者 แปลว่า อยู่ป่า สถิตอยู่ที่ภูเขาวัตสะ พร้อมด้วยพระอรหันต์อีก ๑,๔๐๐ รูปเป็นบริวาร ยังหาเรื่องราวของท่านไม่ปรากฏชัดเจน ดูเหมือนว่าจะเป็นองค์เดียวกันกับพระวัจฉะซึ่งท่านชอบอยู่ป่า

๑๗.พระอรหันต์จูฬปันถกะ ( กุจะปักยะขะ ) 注茶託迦尊者 แปลว่า หนทางเล็ก สถิตอยู่ที่ภูเขาเนมินธร พร้อมด้วยพระอรหันต์อีก ๑,๖๐๐ รูปเป็นบริวาร ท่านเป็นมหาสาวกองค์หนึ่ง เมื่อแรกอุปสมบทมีปัญญาโง่เขลา ท่องจำอรรถคาถาไม่ได้แม้แต่ประโยคเดียว แต่ต่อมาท่านได้บรรลุพระอรหัตผล เชี่ยวชาญทางด้านมโนมยิทธิ เรื่องราวของท่านปรากฏอยู่ในคัมภีร์อสีติมหาสาวก

๑๘.พระอรหันต์ปิณโฑละ (ปักถะโล ) 賨頭盧尊者 คือพระปิณโฑละ ท่านเป็นพระที่ปราบเสือ เสือนั้นเปรียบเสมือนกิเลสในใจตน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น